แชร์

เปิดภาพเมืองหลวง EECiti เนรมิตที่ดิน 1.4 หมื่นไร่บางละมุง

อัพเดทล่าสุด: 11 ก.ย. 2024
183 ผู้เข้าชม

ตามเป้าที่ว่าต้องการให้มีการลงทุนปีละ 100,000 ล้านบาท และเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มากขึ้น คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้เห็นชอบการจัดตั้งโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ (EEC Capital City : EECiti) ให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็น เมืองหลวง EEC ภายใต้สิทธิประโยชน์ที่เหนือที่สุดเท่าที่เคยมีมา

รวมพื้นที่ 5,795 ไร่ ในบางละมุง
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) กล่าวถึงภาพรวมของการพัฒนาพื้นที่ EEC นับจากวันแรกเมื่อปี 2562 จนถึงปัจจุบันคือปี 2567 ว่า โครงการทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนของแต่ละรัฐบาลนั้น ยังคงให้ความสำคัญกับ EEC เพราะพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนด้วยศักยภาพของตัวมันเอง

EEC จึงเป็นหมุดหมายของนักลงทุนที่แท้จริง ล่าสุดพื้นที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี กำลังจะกลายเป็นเมืองหลวงของ EEC หลังจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) บอร์ด EEC เห็นชอบ

ซึ่งการรวบรวมพื้นที่ 5,795 ไร่ ในระยะแรก และประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเรียบร้อยแล้วตามแผน และภายในปี 2568 พื้นที่ทั้งหมด 14,619 ไร่ จะทยอยรวบรวมจนครบ นับจากนี้ บนพื้นที่ดังกล่าวจะเริ่มถูกพัฒนาด้วยรูปแบบ PPP ผ่านกระบวนการหาผู้ร่วมทุน เพื่อเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคสำคัญทั้งระบบไฟฟ้า น้ำประปา ถนน อ่างเก็บน้ำ ระบบรีไซเคิลน้ำ ระบบสื่อสาร ที่จะใช้ระยะเวลา 3 ปี ด้วยการตั้ง บริษัท พัฒนาเมือง จำกัด ในลักษณะ EEC Holding เพื่อร่วมบริหารจัดการและพัฒนา EEC Capital City

การก่อสร้างโครงข่ายถนนทั้งภายนอก และเชื่อมต่อภายในโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เอกชนเข้าลงทุนพัฒนาพื้นที่ธุรกิจเป้าหมายในโครงการจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2568 จากนั้นในปี 2569 สามารถเริ่มเข้าปรับพื้นที่ก่อสร้าง และสามารถเปิดดำเนินการในช่วงแรกภายในปี 2572

ชู Net Zero City
คำว่า Net Zero City คือ สิ่งที่จะขายในอีก 5 ปี แทนคำว่า Smart City การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงาน EEC ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพพัฒนาพื้นที่ EECiti ที่ถูกแบ่งออกเป็น 7 โซน นอกเหนือจากศูนย์สำนักงานใหญ่ภูมิภาค ศูนย์ราชการ ศูนย์บริการทางการเงินแห่งอนาคต ธุรกิจ BCG ศูนย์การแพทย์ ศูนย์การศึกษา R&D Startup แน่นอนว่าจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนา นิคมอุตสาหกรรม ขึ้นมารองรับการลงทุนที่เป็นภาคการผลิต แต่การผลิตทั้งหมดจะต้องรองรับอุตสาหกรรมที่เป็น 5.0

ภาพของเมืองหลวงแห่งนี้จะรองรับการลงทุนรวมถึง 1.34 ล้านล้านบาท สร้างงานตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง มีมูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท จึงกล่าวได้ว่าแม้ประเทศไทยจะจัดโอลิมปิกไม่ได้ แต่ไทยสามารถดึงคนระดับโอลิมปิกเข้ามาที่แห่งนี้ได้ นี่คือไอเดียที่ทาง EEC ได้เสนอแนวคิดเอาไว้ อีกเพียงไม่กี่ปีเราจะได้เห็น ททท. สร้างสนามกีฬารองรับคนได้ถึง 80,000 คน

โดยมีไฮสปีดเป็นระบบขนส่งเข้ามาเชื่อมต่อ และในระหว่างนี้จำเป็นที่ต้องเดินคู่ขนานกันไปในเรื่องของการชักจูงนักลงทุน ประเดิมโรดโชว์แรกที่ฮ่องกงในสัปดาห์หน้า และเมื่อถึงปี 2570 โครงสร้างพื้นฐานเสร็จสมบูรณ์นักลงทุนทยอยเข้ามา เป็นช่วงจังหวะเดียวกับไฮสปีดที่จะเข้ามาเชื่อมกันพอดี

สถานีฉะเชิงเทรา 1.9 หมื่นล้าน
ตลอดเส้นทางรถไฟสายเดิมของภาคตะวันออก เป็นเส้นคู่ขนานที่ไฮสปีดจะเกิดล้อตามกันไป จุดเริ่มต้นที่สนามบินดอนเมืองวิ่งเข้าสถานีบางซื่อ ยิงตรงมาที่แอร์พอร์ตลิงก์ตามเส้นทางของสถานีมักกะสัน ซึ่งที่นี่ถือว่าเป็นไฮสปีดเส้นแรกของประเทศ เพียงแต่ปัจจุบันมีการใช้ความเร็วที่ยังไม่สูงสุด เนื่องจากยังอยู่ในเขตเมือง จากนั้นจะมุ่งหน้าเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ตรงไปยังสถานีฉะเชิงเทรา ซึ่งนี่คือจุดแรกของประตูที่จะเข้าสู่ EEC

ดังนั้น EEC จึงเปิดแผนในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) แห่งแรกคือ สถานีฉะเชิงเทรา พื้นที่ 321 ไร่ ด้วยเงินลงทุนกว่า 19,000 ล้านบาท ซึ่งจะเกิดทั้งศูนย์เปลี่ยนถ่ายด้านการขนส่ง ที่อยู่อาศัยชั้นดี อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โรงแรม ศูนย์การค้า สำหรับสินค้าเกษตร OTOP และสาธารณูปโภคต่าง ๆ คือ Smart City อีกแห่ง ซึ่งในอนาคตเราอาจได้เห็นกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองบริวารของ EEC

แม้ว่าขณะนี้ โครงการ ไฮสปีดยังอยู่ระหว่างการรอแก้ไขสัญญา ที่จะต้องเปิดใช้บริการให้ได้ตามแผนปี 2572 การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกยังคงเดินหน้าไม่หยุด ได้มีการส่งมอบพื้นที่โครงการส่วนแรกให้กับภาคเอกชน (UTA) แล้ว 3,550 ไร่ เพื่อก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ขยายอาคารผู้โดยสาร ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) เขตปลอดอากร หอควบคุมการบิน ในหลาย ๆ ส่วนตรงนี้มีเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนา ทั้ง บี.กริม อีสท์วอเตอร์ รวมด้วย เพื่อให้สามารถเปิดใช้บริการได้ในปี 2571

ส่วนท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ในไม่ช้าภายในปี 2569 ประเทศไทยจะมีท่าเรือขนส่งสินค้าเหลวก๊าซธรรมชาติ (LNG) ความจุสูงถึง 11 ล้านตัน/ปี ในขณะที่ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จะสามารถรองรับตู้สินค้าได้สูงถึง 30 ล้าน TEU/ปี ในปี 2570 ซึ่งแน่นอนว่ายังรองรับรถยนต์จำนวนกว่า 3 ล้านคัน/ปี

20 รายแรกลุ้นรับสิทธิประโยชน์
โครงสร้างพื้นฐานคือประตู่สู่ EEC และมันจะตามมาด้วยการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม และก็ปฏิสธไม่ได้ว่า สิทธิประโยชน์ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญไม่น้อยสำหรับนักลงทุน พ.ร.บ. EEC ได้ให้อำนาจโดยการกำหนดสิทธิประโยชน์ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นการดึงดูดนักลงทุนเข้ามายังพื้นที่ EEC ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การร่างหลักการของสิทธิประโยชน์ได้สะเด็ดน้ำแล้ว รอเพียงการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้ได้ทันที

ในขณะตอนนี้มีนักลงทุนกว่า 20 ราย พร้อมที่จะลงทุนภายใต้การให้สิทธิประโยชน์จาก EEC ซึ่งมีมูลค่าถึง 200,000 ล้านบาท จากการเจรจามา 110 ราย ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรม BCG บริการ และที่สำคัญ ยังเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่างเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึง Data Center

การให้สิทธิประโยชน์จำเป็นต้องเจรจาให้จบภายใน 3 เดือน แน่นอนว่าการรอคอยของนักลงทุนนั้นย่อมมีขีดจำกัด การจัดการที่ดีที่สุดคือทำอย่างไรจะไม่ปล่อยให้นักลงทุนหลุดมือจากประเทศไทยไป นั่นคือการส่งกลับไปสู่สิทธิประโยชนของ บีโอไอ เมื่อสิ่งใดที่ยังขาด EEC จะเป็นผู้ซัพพอร์ตเติมให้เต็มตามที่นักลงทุนต้องการ เช่น เรื่องของ VISA แต่จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับสิทธิประโยชน์ที่บีโอไอได้ให้ยืนพื้นไว้แล้ว

นี่คือจังหวะที่ต่างฝ่ายต่างต้องช่วยกัน ทั้งบีโอไอ ทั้ง EEC เพราะโจทย์ของนักลงทุนคือโจทย์ที่ยากที่สุด ไทยจะสร้างเม็กเนตอย่างไรในการดึงดูด นักลงทุนที่กำลังเลือกช็อปว่าประเทศใดให้สิทธิประโยชน์ที่ดีที่สุด

ไทยก็คือหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุด ด้วยความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาด สิทธิประโยชน์ที่ให้ทั้งรายอุตสาหกรรมหรือจะเป็นรูปแบบของการเจรจาเฉพาะ การมีอำนาจจากกฎหมายลูก 44 ฉบับ ย่อมเป็นความได้เปรียบสูงสุดที่ EEC มีในขณะนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลที่นักลงทุนจะปักหมุดมาที่ไทย เพียงแต่วันนี้รัฐบาลต้องเตรียมคนให้พร้อมและให้พอ เพราะนี่จะเป็นความยากและอุปสรรคสำคัญที่ทำนักลงทุนเปลี่ยนใจเลือกปักหมุดหมายใหม่ได้เช่นกัน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ


บทความที่เกี่ยวข้อง
ดัชนีเชื่อมั่นภาคอสังหาฯ ส่งสัญญาณบวก รับปัจจัยมาตรการกระตุ้นศก.-กนง.ลดดอกเบี้ย
จากสัญญาณดังกล่าวของ REIC ทำให้ ธอส. เชื่อมั่นว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่ากลาง 50.0 เร็วกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ มีสัญญาณความเชื่อมั่นในมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น นายกมลภพ ระบุ
21 ต.ค. 2024
บิ๊กทุนตาวาว เปิดทำเลมิกซ์ยูส TOD ไฮสปีดอีอีซี 6.4 หมื่นล้าน ดันราคาที่ดินพุ่ง
บิ๊กเอกชนตาวาว EEC เปิดทำเลทอง มิกซ์ยูส รอบ TOD ไฮสปีด 3สนามบิน สถานีฉะเทริงเทรา (แปดริ้ว)-พัทยา มูลค่า 6.4 หมื่นล้านบาท ดันราคาที่ดินพุ่ง 20-30% ชี้ไฮสปีดเกิด ดันราคาที่ดินพุ่ง100%
7 ก.ย. 2024
คอนโด - บ้านหรู พัทยา : KANA Properties
โดยปกติจะตอบกลับภายในไม่กี่ชั่วโมง
สวัสดีค่ะ สามารถแชทคุยกับเจ้าหน้าที่ได้เลยนะคะ
เริ่มแชท
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy